สุขศึกษาและพลศึกษาสำคัญอย่างไร?
สุขศึกษาและพลศึกษาเป็นการศึกษาด้านสุขภาพที่มีเป้าหมายเพื่อการดำรงสุขภาพ การสร้างเสริมสุขภาพ และการพัฒนาคุณ ภาพชีวิตของบุคคล ครอบครัว และชุมชนให้ยั่งยืน
- สุขศึกษา มุ่งเน้นให้ผู้เรียนพัฒนาพฤติกรรมด้านความรู้ เจตคติ คุณธรรม ค่านิยม และการปฏิบัติเกี่ยวกับสุขภาพควบคู่ไปด้วยกัน
- พลศึกษา มุ่งเน้นให้ผู้เรียนใช้กิจกรรมการเคลื่อนไหว การออกกำลังกาย การเล่นเกมและกีฬา เป็นเครื่องมือในการพัฒนาโดยรวม ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม สติปัญญา รวมทั้งสมรรถภาพเพื่อสุขภาพและกีฬา
หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดเนื้อหาสาระสุขศึกษาและพลศึกษาไว้อย่างไร?
เนื้อหาหรือขอบข่ายองค์ความรู้ของกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ประกอบด้วย
- การเจริญเติบโตและพัฒนาการของมนุษย์ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้เรื่องธรรมชาติของการเจริญเติบโตและพัฒนาการของมนุษย์ ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโต ความสัมพันธ์เชื่อมโยงในการทำงานของระบบต่างๆของร่างกาย รวมถึงวิธีปฏิบัติตนเพื่อให้เจริญเติบโตและมีพัฒนาการที่สมวัย
- ชีวิตและครอบครัว ผู้เรียนจะได้เรียนรู้เรื่องคุณค่าของตนเองและครอบครัว การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางร่าง กาย จิตใจ อารมณ์ ความรู้สึกทางเพศ การสร้างและรักษาสัมพันธภาพกับผู้อื่น สุขปฏิบัติทางเพศ และทักษะในการดำเนินชีวิต
- การเคลื่อนไหว การออกกำลังกาย การเล่นเกม กีฬาไทย และกีฬาสากล ผู้เรียนได้เรียนรู้เรื่องการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ การเข้าร่วมกิจกรรมทางกายและกีฬา ทั้งประเภทบุคคลและประเภททีมอย่างหลากหลาย ทั้งไทยและสากล การปฏิบัติตามกฎ กติกา ระเบียบ และข้อตกลงในการเข้าร่วมกิจกรรมทางกายและกีฬา และความมีน้ำใจนักกีฬา
- การสร้างเสริมสุขภาพ สมรรถภาพ และการป้องกันโรค ผู้เรียนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับหลักและวิธีการเลือกบริโภคอาหาร ผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพ การสร้างเสริมสมรรถภาพเพื่อสุขภาพและการป้องกันโรคทั้งโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อ
- ความปลอดภัยในชีวิต ผู้เรียนจะได้เรียนรู้เรื่องการป้องกันตนเองจากพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ทั้งความเสี่ยงต่อสุขภาพ อุบัติเหตุ ความรุนแรง อันตรายจากการใช้ยาและสารเสพติด รวมถึงแนวทางในการสร้างเสริมความปลอดภัยในชีวิต
เด็กจะได้รับประโยชน์อะไรจากสุขศึกษาและพลศึกษา?
กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดคุณภาพผู้เรียนเมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ไว้ ดังนี้
- มีความรู้และเข้าใจในเรื่องการเจริญเติบโตและพัฒนาการของมนุษย์ ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการ วิธีการสร้างสัมพันธภาพในครอบครัวและกลุ่มเพื่อน
- มีสุขนิสัยที่ดีในเรื่องการกิน การพักผ่อนนอนหลับ การรักษาความสะอาดอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย การเล่นและการออกกำลังกาย
- ป้องกันตนเองจากพฤติกรรมที่อาจนำไปสู่การใช้สารเสพติด การล่วงละเมิดทางเพศ และรู้จักปฏิเสธในเรื่องที่ไม่เหมาะสม
- ควบคุมการเคลื่อนไหวของตนเองได้ตามพัฒนาการในแต่ละช่วงอายุ มีทักษะการเคลื่อนไหวขั้นพื้นฐาน และมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางกาย กิจกรรมสร้างเสริมสมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพและเกมได้อย่างสนุกสนานและปลอดภัย
- มีทักษะในการเลือกบริโภคอาหาร ของเล่น ของใช้ ที่มีผลดีต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงและป้องกันตนเองจากอุบัติเหตุได้
- ปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เมื่อมีปัญหาทางอารมณ์และปัญหาสุขภาพ
- ปฏิบัติตนตามกฎระเบียบข้อตกลง คำแนะนำ และขั้นตอนต่างๆ และให้ความร่วมมือกับผู้อื่นด้วยความเต็มใจจนงานประสบความสำเร็จ
- ปฏิบัติตามสิทธิของตนเองและเคารพสิทธิของผู้อื่นในการเล่นเป็นกลุ่ม
ครูสอนสุขศึกษาและพลศึกษาให้ลูกอย่างไร?
สุขภาพมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ หากเด็กๆได้เรียนรู้หลักการต่างๆเกี่ยวกับสุขภาพ จะทำให้เด็กมีความรู้ เจตคติ มีการปฏิบัติที่ดีและถูกต้อง ทั้งยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขอีกด้วย การให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่เด็ก จึงเป็นการช่วยให้เด็กได้เรียนรู้หลักการเกี่ยวกับสุขภาพตั้งแต่แรกเริ่ม และจะนำไปดัดแปลงใช้ในชีวิตประจำวันของตัวเองและครอบครัวได้เร็วและมากยิ่งขึ้น เป้าหมายของการสอนสุขศึกษาและพลศึกษา คือ การสอนให้เด็กเกิดความรู้ เจตคติ และการปฏิบัติที่ดีต่อสุขภาพ เกิดสุขภาวะองค์รวม คือ ภาวะที่หมดทุกข์และมีสุข ตัวอย่างกิจกรรมที่ครูจัดให้เด็กที่โรงเรียนมีดังนี้
- สอน ให้เข้าใจถึงทักษะในการเลือกบริโภคอาหาร การเลือกของเล่น ของใช้ ที่มีผลดีต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงและป้อง กันตนเองจากอุบัติเหตุได้
- จัดกิจกรรม สร้างเสริมสมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพ มีการทดสอบสมรรถภาพทางกาย จัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวที่หลากหลาย เพื่อให้เด็กมีทักษะการเคลื่อนไหวขั้นพื้นฐาน การเคลื่อนไหวเฉพาะอย่าง การออกกำลังกาย เล่นเกม และเล่นกีฬา รวมถึงการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันในอิริยาบถต่างๆ ทั้งการเคลื่อนไหวแบบเคลื่อนที่ แบบอยู่กับที่ และแบบประ กอบอุปกรณ์
- ฝึก ให้เด็กรู้จักวิธีปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเหมาะสม ปฏิบัติตนตามกฎระเบียบ ข้อตกลง คำแนะนำ และขั้นตอนต่างๆ ให้ความร่วมมือกับผู้อื่นด้วยความเต็มใจจนงานประสบความสำเร็จ ปฏิบัติตามสิทธิของตนเองและเคารพสิทธิของผู้อื่นในการเล่นเป็นกลุ่ม สามารถจัดการกับอารมณ์และความเครียด รู้จักวิธีควบคุมอารมณ์และความคับข้องใจที่ไม่เป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น เช่น ทำสมาธิ เล่นกีฬา การร่วมกิจกรรม นันทนาการ การคลายกล้ามเนื้อ
- เตรียมพร้อมป้องกันตนเอง จากพฤติกรรมที่อาจนำไปสู่การเสี่ยงต่อสุขภาพ เกิดอันตรายต่อชีวิต เช่น การรับประ ทานอาหารสุกๆ ดิบๆ การมีน้ำหนักตัวเกิน การขาดการออกกำลังกาย การถูกล่อลวงต่างๆ การล่วงละเมิดทางเพศ การใช้สารเสพติด และรู้จักปฏิเสธในเรื่องที่ไม่เหมาะสม
พ่อแม่จะช่วยส่งเสริมสุขศึกษาและพลศึกษาให้ลูกได้อย่างไร
คนเราจะมีความสุขอย่างแท้จริง ก็ต้องดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง คือ จะต้องปฏิบัติถูกต้องต่อชีวิตของตนเอง และต่อสภาพแวด ล้อม ทั้งทางสังคม ทางธรรมชาติ และทางวัตถุโดยทั่วไป รวมทั้งเทคโนโลยี คนที่รู้จักดำเนินชีวิตได้ถูกต้อง ย่อมมีชีวิตที่ดีงามและมีความสุขที่แท้จริง ซึ่งหมายถึง การมีความสุขที่เอื้อต่อการเกิดมีความสุขของผู้อื่นด้วย ซึ่งมีตัวอย่าง ดังนี้
- สร้างเสริมสุขนิสัยที่ดี ในเรื่องการรับประทานอาหาร การพักผ่อนนอนหลับ การรักษาความสะอาดอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย รวมถึงการเล่นและการออกกำลังกาย ตามข้อกำหนดสุขบัญญัติแห่งชาติ (National Health Disciplines) 10 ประการ ที่เด็กและเยาวชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป พึงปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอจนเป็นสุขนิสัย เพื่อให้มีสุขภาพดีทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม ดังนี้
- ดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด
- รักษาฟันให้แข็งแรงและแปรงฟันทุกวันอย่างถูกต้อง
- ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและหลังการขับถ่าย
- กินอาหารสุก สะอาด ปราศจากสารอันตราย และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด สีฉูดฉาด
- งดบุหรี่ สุรา สารเสพติด การพนัน และการสำส่อนทางเพศ
- สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น
- ป้องกันอุบัติภัยด้วยการไม่ประมาท
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอและตรวจสุขภาพประจำปี
- ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ
- มีสำนึกต่อส่วนรวม ร่วมสร้างสรรค์สังคม
- พัฒนาทักษะชีวิต (Life Skills) ด้วยการเปิดโอกาสให้ลูกได้เผชิญสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันอย่างมีประสิทธิภาพ ฝึกและทำซ้ำๆให้เกิดความคล่องแคล่ว เคยชิน จนเป็นลักษณะนิสัย เพื่อสร้างเสริมทักษะต่างๆ ได้แก่ การรู้จักตนเอง เข้าใจตนเอง และเห็นคุณค่าของตนเอง การรู้จักคิดอย่างมีวิจารณญาณ คิดสร้างสรรค์ คิดตัดสินใจ คิดแก้ปัญหา รู้จักแสวงหาและใช้ข้อมูลความรู้ การสื่อสารและการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น การจัดการกับอารมณ์และความเครียด การปรับ ตัวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง การตั้งเป้าหมาย การวางแผนและดำเนินการตามแผน ความเห็นใจผู้อื่น ความรับผิดชอบต่อสังคมและซาบซึ้งในสิ่งที่ดีงามรอบตัว
- เสริมสร้างน้ำใจนักกีฬา (Spirit) ให้เกิดเป็นคุณธรรมประจำใจของการเล่นร่วมกัน อยู่ร่วมกัน และมีชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุขและมีประสิทธิภาพ พฤติกรรมที่แสดงถึงความมีน้ำใจนักกีฬา เช่น การมีวินัย เคารพกฎกติกา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น